กลิ่นฟีโรโมนคืออะไร? ทำให้เรามีเสน่ห์ขึ้นจริงหรือไม่? แล้วเอามาใส่น้ำหอมได้จริงหรือเปล่า?
ความยั่วยวนของกลิ่นหอมพิเศษที่สกัดมาจากผิวของมนุษย์ ทำให้ลานประหารของฌอง-แบ็ปติสท์ เกรอนุย นักปรุงน้ำหอมฝึกหัด ตัวเอกจากภาพยนตร์ “Perfume a Story of Murderer” กลายเป็นลานสวาทที่แม้แต่บิชอปที่เคร่งครัดในศรัทธาก็ไม่อาจอดใจอยู่
ในโลกแห่งความเป็นจริง ความหอมยั่วยวนชนิดนั้นถูกเข้าใจว่ามาจากปฏิกิริยาของสาร “ฟีโรโมน” (Pheromone) สารคัดหลั่งที่หลั่งออกมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามตามธรรมชาติ ทำให้หลายครั้งหลายครา น้ำหอมที่เล่าเรื่องความเซ็กซี่ เย้ายวนอารมณ์จึงมักจะถูกถามหาการผสมสารชนิดนี้อยู่บ่อย ๆ
แต่ “ฟีโรโมน” นั้นทรงอานุภาพขนาดนั้นจริงหรือไม่? วันนี้เราจะไปพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับพลังอำนาจ และความโด่งดังของสารชนิดนี้กัน
ฟีโรโมนคือสารที่สัตว์ผลิตออกมาจากต่อมพิเศษเพื่อใช้สื่อสารกับสัตว์ตัวอื่น โดยมีตัวรับ (Receptor) อยู่ที่ “Vomeronasal Organ” อวัยวะรับกลิ่นที่พบได้ทั่วไปในสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ รวมถึงมนุษย์ด้วย แต่เพราะเส้นทางวิวัฒนาการที่ทำให้การรับกลิ่นของเรากลายเป็นประสาทสัมผัสระบบรอง กลิ่นจึงมีบทบาทในชีวิตประจำวันน้อยกว่าการมองเห็น และการได้ยิน อวัยวะชนิดนี้จึงอาจไม่ได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่เท่ากับที่สัตว์ทำได้
ในปัจจุบันจึงยังไม่มีงานวิจัยที่ออกมาชี้ชัดว่าฟีโรโมนทำงานในมนุษย์ได้เช่นเดียวกับที่มันทำงานในสัตว์ เพราะความยั่วยวนและมีเสน่ห์ของคนเรามีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากกว่าแค่การได้กลิ่นเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ
งานวิจัยเรื่อง “Evidence that androstadienone, a putative human chemosignal, modulates women's attributions of men's attractiveness” ในปี 2008 ที่ศึกษาผลกระทบของสาร androstadienone สารเคมีที่พบในเหงื่อ ปัสสาวะ และสารคัดหลั่งอื่น ๆ ของมนุษย์กับความน่าดึงดูดของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง พบว่า ผู้หญิงที่ได้รับสาร androstadienone มีแนวโน้มที่จะมองว่าผู้ชายตรงหน้าน่าดึงดูด มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้รับสารดังกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้จึงให้สรุปว่า ฟีโรโมนไม่ได้ทำให้คนรอบข้างมาสนใจเรา แต่กลับทำให้เราสนใจคนรอบข้างมากขึ้น
ในขณะที่ Kerry Hughes นักมานุษยพฤกษศาสตร์ (Ethnobotanist) และสมุนไพรวิทยา ให้ความเห็นว่าฟีโรโมนส่งผลต่อคนที่สนใจกันและกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ดูมีเสน่ห์เย้ายวนเพิ่มมากขึ้น มากกว่าจะส่งผลต่อคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ก็ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบมากมาย รวมถึงเอฟเฟคของ “ยาหลอก” (Placebo Effect) ที่เราอาจจะคิดไปเองว่าฟีโรโมนส่งผลต่อความรู้สึกยั่วยวนก็เป็นได้
ในทางน้ำหอม มีการใช้งานกลิ่นฟีโรโมนที่มาจากสัตว์ เช่นสารจากต่อมของชะมดเช็ด (Civet) บีเวอร์ (Beaver) หรือกลิ่นฟีโรโมนสังเคราะห์เองก็ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำหอมเพื่อเล่าเรื่องราวที่หลากหลายขึ้น ลึกขึ้น สร้างความพลิกผันหรือความดิบเถื่อนได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่เรื่องราว และการปรุงของนักปรุงน้ำหอมแต่ละคนว่าจะสร้างสรรค์เรื่องราวออกมาเช่นไร แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการยั่วยวนทางเพศโดยเฉพาะเช่นที่ใครหลายคนเข้าใจ
ความยั่วยวนของมนุษย์จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงประสาทสัมผัสอื่น ๆ ที่ทำงานประสานกัน บุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ และสเปคของคนแต่ละคนที่แตกต่างกัน กลิ่นที่เสริมบุคลิกของเราจึงไม่อาจสู้การเป็นตัวของตัวเองที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร อันเป็นเสน่ห์สำคัญที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบไปได้
Comments